บทความวิชาการ
view 436 facebook twitter mail

มาตรการทางการค้าเกษตรแปรรูป สปป.ลาว-ไทย

เกี่ยวกับเอกสาร

มาตรการทางการค้าเป็นปัจจัยสำคัญต่อการค้าระหว่างประเทศ  แม้ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีทั้งทวิภาคีและพหุภาคีได้ยกเว้นภาษีนำเข้า-ส่งออกสินค้าแล้ว แต่ก็ยังมีอุปสรรคด้านมาตรการทางการค้าที่มิใช่ภาษี ซึ่งส่งผลกระทบต่อการนำเข้าและส่งออกสินค้า

ผลการศึกษาวิจัยของ ITD เรื่อง การพัฒนาห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปเพื่อเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (ACMECS) สู่ความยั่งยืน พบว่ามาตรการด้านภาษีของสปป.ลาวสอดคล้องกับสถานภาพสมาชิกของอาเซียนและ WTO

และให้ความสำคัญกับกรอบความตกลงอาเซียนว่าด้วยการอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าผ่านแดน (AFAFGIT) นอกจากนั้นเมื่อปี 2558 สปป.ลาวได้ลงนามในความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกทางการค้าของ WTO และความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS CBTA)

สปป.ลาวมีนโยบายส่งเสริมให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนโดยตรงโดยกำหนดสิทธิด้านภาษีสำหรับสินค้าวัตถุดิบที่ใช้ป้อนโรงงานและกิจการที่ต่างชาติมาลงทุน และส่งเสริมการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ยกเว้นภาษีนำเข้าสำหรับวัตถุดิบที่จะผลิตเพื่อการส่งออก

มาตรการด้านภาษีสำหรับสินค้าเกษตรของสปป.ลาวมีข้อยกเว้นทางภาษี เช่น สำหรับสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป ทั้งกาแฟ มันสำปะหลัง และกล้วย สปป.ลาวมีการยกเว้นภาษีนำเข้าให้เหลือ 0% ภายใต้กรอบความตกลงของอาเซียน แต่ยังมีอุปสรรคด้านมาตรการที่มิใช่ภาษี หรือ NTMs ซึ่งพบว่าส่งผลกระทบเป็นอย่างมากกับการค้าในสปป.ลาว โดยมีกระบวนการขอใบอนุญาตคิดเป็นสัดส่วนมูลค่ามากกว่า 34% ของสินค้านำเข้า

สปป.ลาวได้กำหนดยุทธศาสตร์สนับสนุนการค้าในช่วงปี 2560-2565 โดยให้ความสำคัญกับความร่วมมือข้ามพรมแดน การลดขั้นตอนการนำเข้า-ส่งออก การลดมาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี และการอำนวยความสะดวกด้านการนำเข้า-ส่งออก เช่น

การขยายชั่วโมงทำงานในพื้นที่ชายแดน การลดจุดตรวจสินค้าระหว่างทาง การสร้างจุดชำระเงินแบบ Single point payment การพัฒนา Single window การพัฒนาระบบเอกสารผ่านดิจิทัล การมอบอำนาจให้แผนกการค้าแขวงเป็นผู้ออกใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า (Form D and AISP) เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่หน่วยธุรกิจในการส่งออกสินค้า

การนำเข้าสินค้าเกษตรสำคัญจากสปป.ลาว ของไทยมีการใช้มาตรการอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า (TBT) และมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (SPS)  สำหรับสินค้ากล้วย กาแฟ และมันสำปะหลัง 

มาตรการที่มีผลต่อการนำเข้ากาแฟจากสปป.ลาวที่ส่งผลกระทบมากที่สุดคือ การกำหนดโควตาการนำเข้า เนื่องจากไทยกำหนดให้เมล็ดกาแฟเป็นหนึ่งในสินค้าเกษตร 23 รายการ ที่เป็นสินค้าโควตาภาษีภายใต้ WTO โดยในปี 2563 กระทรวงพาณิชย์ได้จัดสรรโควตากาแฟทั้งสิ้นไม่เกิน 5.25 เมตริกตันต่อปี และหน่วยงานคณะกรรมการพืชสวนภายใต้คณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์เป็นหน่วยงานดูแลการนำเข้า โดยการนำเข้ากาแฟจากสปป.ลาวจะต้องชำระภาษีที่อัตราอากร 20%

แม้ว่าการเจรจาภายใต้ความตกลงการค้าเสรีจะเอื้อประโยชน์ต่อการค้าระหว่างประเทศ แต่ยังมีมาตรการอื่น ๆ ที่ยังเป็นอุปสรรคต่อการนำเข้า-ส่งออกสินค้า ดังนั้นจึงเป็นหมุดหมายสำคัญที่ประเทศต่าง ๆ ต้องสร้างความร่วมมือเพื่อลดอุปสรรคดังกล่าว

——————————-

Tag: Laos, Economy

ผู้เขียน

น้ำผึ้ง ทัศนัยพิทักษ์กุล

นักวิจัยอาวุโส

www.itd.or.th

ตีพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Section : การเงิน-ลงทุน

ปีที่ 35 ฉบับที่ 12141 วันพุธที่ 15 มิถุนายน 2565 หน้า 8 (ซ้าย)  คอลัมน์ “Asean Insight

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

view 436 facebook twitter mail
Top