ความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (The Bay of Bengal Initiative for Multi-Sector Technical and Economic Cooperation: BIMSTEC) หรือกรอบความร่วมมือบิมสเทค เป็นกรอบความร่วมมือระดับอนุภูมิภาคในอนุทวีปเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ริเริ่มโดยไทย ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 7 ประเทศ ได้แก่ บังกลาเทศ ศรีลังกา อินเดีย ไทย เมียนมา เนปาล และภูฏาน เพื่อต้องการให้อนุภูมิภาคนี้เป็นศูนย์กลางความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ
ภูมิภาคอ่าวเบงกอล ถือเป็นพื้นที่เป้าหมายที่ประเทศไทยต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะนอกจากความใกล้ชิดในฐานะเพื่อนบ้านแล้ว ภูมิภาคอ่าวเบงกอลยังเป็นหนึ่งในเขตเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีมูลค่าผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP รวมกันสูงกว่า 3.620 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ณ ปี พ.ศ. 2561 โดยหากพิจารณาเปรียบเทียบระหว่าง GDP nominal และ GDP PPP จะพบว่าประเทศสมาชิกในกลุ่มบิมสเทคล้วนเป็นประเทศที่ระดับค่าครองชีพที่ต่ำ ทำให้มูลค่าของ GDP PPP มีมูลค่าสูงกว่า GDP nominal ในทุกประเทศสมาชิก และหากพิจารณาจากค่า GDP PPP ซึ่งหมายถึงขนาดของเศรษฐกิจที่มีการปรับระดับมาตรฐานค่าครองชีพแล้ว อินเดีย จะกลายเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ของโลก ด้วยมูลค่า 10.498 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (รองจากอันดับ 1 จีน และอันดับ 2 สหรัฐอเมริกา)
ในขณะที่รายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปีของทุกประเทศในกลุ่มบิมสเทคอยู่ที่ระดับสูงกว่า 1,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี (ยกเว้นเนปาล ที่ระดับ 918.9 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี) นั่นทำให้ทุกประเทศสมาชิกในกลุ่มบิมสเทค เป็นประเทศที่มีรายได้ระดับกลาง โดยเฉพาะไทยและศรีลังกาซึ่งอยู่ในกลุ่มบนของประเทศที่มีรายได้ระดับกลาง (มีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ระดับสูงกว่า 4,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี) ซึ่งธนาคารโลกเพิ่งจะเลื่อนขั้นให้ศรีลังกาขึ้นมาอยู่ในระดับ Upper-Middle Income Country ในปี พ.ศ. 2562 นี้เอง
เมื่อพิจารณาถึงกำลังแรงงาน ทุกประเทศในภูมิภาคต่างมีอัตราการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงาน (Labour Force Participation Rate, ร้อยละของประชากรที่มีอยู่ในกำลังแรงงาน) ในอัตราสูงเกินกว่าร้อยละ 50 นั่นหมายความว่าเกินกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรของแต่ละประเทศยังอยู่ในวัยแรงงานและพร้อมที่จะทำงาน โดยมีบังกลาเทศ ศรีลังกา และอินเดีย ที่ยังมีอัตราการว่างงานในระดับสูงที่ประมาณร้อยละ 4-6
เศรษฐกิจของประเทศในกลุ่มบิมสเทค (ยกเว้นประเทศไทย) พึ่งพาการบริโภคภายในประเทศเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยการบริโภคภายในประเทศคิดเป็นสัดส่วนระหว่างร้อยละ 55-70.8 ของมูลค่าผลผลิตรวมภายในประเทศ นั่นหมายความว่าปัจจัยภายนอกจากการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของแต่ละประเทศไม่มากนัก เสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจขึ้นกับปัจจัยภายใน และยังหมายความว่าเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ยังไม่ได้เปิดสู่ตลาดการค้าของโลกมากนักพิจารณาได้จากมูลค่าการส่งออกและการนำเข้าที่สูงสุดเพียงไม่เกินร้อยละ 29.9 และ 49.55 ตามลำดับ
จะเห็นได้ว่า บิมสเทคคือตลาดที่มีขนาดใหญ่ มีกำลังซื้อ มีอัตราการเจริญเติบโตสูง เป็นทั้งแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ และแหล่งทรัพยากรมนุษย์ รวมทั้งยังมีระยะทางไม่ไกลจากประเทศไทย และในขณะเดียวกันก็มีเงื่อนไขทางสังคมและวัฒนธรรมที่ใกล้เคียงกับประเทศไทย และทุกประเทศสมาชิกต่างก็กำลังตื่นตัวในการส่งเสริมให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุน หลังจากความไม่สงบเรียบร้อยในหลายประเทศสมาชิกได้คลี่คลายไปแล้ว
ในขณะที่ในมิติด้านการเมือง ความมั่นคง และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ท่ามกลางการแย่งชิงกันเป็นมหาอำนาจภายใต้ยุทธศาสตร์ Belt and Road Initiatives (BRI) ที่มีแกนหลักคือมหาอำนาจจีน และยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นมหาอำนาจสำคัญในการปิดล้อมจำกัดเขตการขยายอิทธิพลของจีน กรอบบิมสเทคกลายเป็นหนึ่งในความร่วมมือสำคัญที่จะเชื่อมโยงอาเซียนที่มีประเทศไทยเป็นจุดศูนย์กลางเข้ากับประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้ซึ่งอยู่ล้อมรอบอ่าวเบงกอล แห่งมหาสมุทรอินเดีย ดังนั้นในทางยุทธศาสตร์หากประเทศไทยต้องการเป็นจุดเชื่อมโยงของมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย ทั้งในมิติความมั่นคง และมิติเศรษฐกิจ บิมสเทคจึงเป็นกรอบที่ไทยต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่ง
ทั้งนี้ บิมสเทคเป็นมรดกที่เกิดขึ้นจากความริเริ่มของประเทศไทยในปี พ.ศ. 2540 โดยในขณะนั้นไทยต้องการเป็นศูนย์กลางความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ สร้างความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน เทคโนโลยี การคมนาคม การสื่อสาร พลังงาน การท่องเที่ยว และประมง จึงริเริ่มเสนอกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจบังกลาเทศ อินเดีย ศรีลังกา และไทย (Bangladesh-India-Sri Lanka-Thailand Economic Cooperation) หรือ BISTEC ขึ้น และในเวลาต่อมาก็ได้มีการรับเมียนมาเข้าเป็นประเทศสมาชิกในปีเดียวกันนั้น ทำให้มีการเปลี่ยนชื่อความร่วมมือเป็น Bangladesh-India-Myanmar-Sri Lanka-Thailand Economic Cooperation (BIMSTEC)
และเพื่อให้โอกาสทางการค้าและการลงทุนขยายตัวเพิ่มมากยิ่งขึ้น กรอบแนวคิดการจัดตั้งเขตการค้าเสรีบิมสเทคจึงเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2555 ในการประชุมระดับรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ (BIMSTEC Ministerial Meeting) ครั้งที่ 5 ณ กรุงโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา
ในปีต่อมา คือ ปี พ.ศ. 2556 เนปาลและภูฏานเข้าเป็นสมาชิกบิมสเทค และได้เปลี่ยนชื่อกรอบความร่วมมือเป็น ความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (The Bay of Bengal Initiative for Multi-Sector Technical and Economic Cooperation: BIMSTEC) เช่นที่ใช้อยู่ ณ ปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม ในการเจรจากรอบการค้าเสรีบิมสเทค มีความล่าช้าของการเจรจาเกิดขึ้นเรื่อยมา โดยเฉพาะความล่าช้าที่เกิดขึ้นภายหลังการประชุม BIMSTEC TNC ครั้งที่ 20 ในปี พ.ศ. 2558 ในที่สุดการประชุมครั้งที่ 21 ก็สามารถจัดขึ้นได้ในระหว่างวันที่ 18-19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 (ทอดเวลาห่างจากครั้งที่ 20 ถึง 3 ปีเศษ) ณ กรุงธากา ประเทศบังกลาเทศ โดยในการประชุมครั้งนี้ประเทศสมาชิกสามารถหาข้อสรุปในข้อตกลงการค้าเสรีได้ 3 ฉบับ ได้แก่ Agreement on Trade in Goods, Agreement on Cooperation and Mutual Assistance in Customs Matters และ Agreement on Dispute Settlement Procedures and Mechanisms
อย่างไรก็ตามข้อตกลงการลงทุน ข้อตกลงการค้าบริการ และข้อตกลงเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวกทางการค้า ก็ยังคงไม่สามารถหาข้อสรุปได้และต้องมีการเจรจาต่อไป
ดังนั้น เพื่อให้เกิดการพัฒนานโยบายเพื่อการขยายผลการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและการใช้ประโยชน์ จากกรอบเขตการค้าเสรีบิมสเทคนั้น ต้องวิเคราะห์ถึงผลกระทบเชิงปริมาณจากการเปิดเสรีทางการค้า ควบคู่กับกรอบการวิเคราะห์เชิงคุณภาพด้วย ทั้งการวิเคราะห์สถานการณ์ในอ่าวเบงกอลจาก 4 มุมมอง ได้แก่
- P: Political การวิเคราะห์ปัจจัยทางด้านการเมือง ความมั่นคง และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
- E: Economics การวิเคราะห์ปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ
- S: Socio-Cultural การวิเคราะห์ปัจจัยทางด้านสังคม-วัฒนธรรม และ
- T: Technology of Transportation การวิเคราะห์ปัจจัยทางด้านเทคโนโลยี
โดยคาดว่าการค้าและการลงทุนจะเกิดขึ้นได้จากการเชื่อมโยงประเทศ ต่าง ๆ เข้าด้วยด้วยระบบการขนส่งที่ดี
ผลการศึกษาบางส่วนพบว่า การวางแผนทำธุรกิจในภูมิภาคบิมสเทคต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะพฤติกรรมของผู้บริโภคในแต่ละตลาดมีความแตกต่างกัน ส่งผลให้การสร้างความสัมพันธ์อันดีกับชุมชนผ่านจุดร่วมทางวัฒนธรรมและการเป็นพันธมิตรกับคนในท้องถิ่นมีบทบาทสำคัญเป็นตัวกลางความร่วมมือกับนักธุรกิจต่างชาติ การบริหารจัดการแรงงานในภูมิภาคก็เป็นอีกความท้าทายหนึ่งที่ต้องพึ่งพา ทั้งทัศนคติของผู้ประกอบการเองและความร่วมมือของคนท้องถิ่น นอกจากนี้ ปัจจัยความสำเร็จที่นักธุรกิจต่างชาติจำเป็นอย่างยิ่งต้องศึกษาคือ ระบบขนส่งโลจิสติกส์ ระบบการชำระเงิน สภาพแวดล้อมทางธุรกิจ กฎหมายและกฎระเบียบ เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจในภูมิภาคนี้อย่างราบรื่น โดยในการทำธุรกิจจำเป็นต้องมีเงินสดสำรองและกระแสเงินทุนหมุนเวียนมากพอที่จะทำธุรกิจระยะยาวโดยไม่ขาดสภาพคล่อง
อย่างไรก็ดี ปัจจัยภายนอกที่อยู่เหนือการควบคุม เช่น ภัยพิบัติ การเมือง สงครามการค้า เป็นตัวแปรที่ส่งผลกระทบต่อการทำธุรกิจ การค้า และการลงทุน นักธุรกิจต่างชาติจึงจำเป็นต้องติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิดทั้งข่าวสารในระดับท้องถิ่น และระดับนานาชาติ รวมทั้งใช้ความรอบคอบในการวางแผนรับมือหากเกิดสถานการณ์เหล่านี้ขึ้นเพื่อให้เกิดความเสียหายต่อธุรกิจน้อยที่สุด
สำหรับการดำเนินงานระดับระหว่างประเทศของภาครัฐภายใต้การเจรจากรอบการค้าเสรีบิมสเทค เป้าหมายสำคัญของการเจรจาการค้าภายใต้กรอบบิมสเทคควรให้ความสำคัญและกำหนดเป้าหมายเพื่อ “ความอยู่ดีมีสุขร่วมกัน”