การค้าระหว่างประเทศเพื่อขับเคลื่อน GMS สู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

view 6404 facebook twitter mail

หลังจากที่เป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals: MDGs) จำนวน 8 เป้าหมายได้สิ้นสุดแล้วในปี พ.ศ. 2558 ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (United Nations General Assembly) จึงได้จัดการประชุมสุดยอดว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Summit) เมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2558 เพื่อวางกรอบวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลกในช่วง 15 ปีข้างหน้า โดยผู้นำของประเทศสมาชิกได้รับรองวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ปี พ.ศ. 2563 (2030 Agenda for Sustainable Development) วาระดังกล่าวได้มีการกำหนด “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” (Sustainable Development Goals: SDGs) โดยมีการตั้งเป้าหมายทั้งสิ้น 17 เป้าหมาย (Goals) 169 เป้าประสงค์ (Targets) เพื่อใช้เป็นแผนที่นำทางสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืนในอีก 15 ปีข้างหน้า

ในที่ประชุมสหประชาชาติล้วนมีความเห็นตรงกันว่า การจะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้นั้น จำเป็นจะต้อง “สร้างความสมดุลให้เกิดขึ้นทั้ง มิติด้านเศรษฐกิจ (Economic Dimension) มิติด้านสังคม (Social Dimension) และ มิติด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Dimension) ดังนี้

  • เป้าหมายที่ 1 ยุติความยากจนทุกรูปแบบในทุกที่ (End poverty in all its forms everywhere)
  • เป้าหมายที่ 2 ยุติความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหารและยกระดับโภชนาการ และส่งเสริมเกษตรกรรมที่ยั่งยืน (End hunger, achieve food security and improved nutrition and promote sustainable agriculture)
  • เป้าหมายที่ 3 สร้างหลักประกันว่าคนมีชีวิตที่มีสุขภาพดีและส่งเสริมสวัสดิภาพสำหรับทุกคนในทุกวัย(Ensure healthy lives and promote well-being for all at all ages)
  • เป้าหมายที่ 4 สร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Ensure inclusive and equitable quality education and promote lifelong learning opportunities for all )
  • เป้าหมายที่ 5 บรรลุความเสมอภาคระหว่างเพศและให้อำนาจของผู้หญิงและเด็กหญิงทุกคน (Achieve gender equality and empower all women and girls)
  • เป้าหมายที่ 6 สร้างหลักประกันว่าจะมีการจัดให้มีน้ำและสุขอนามัยสำหรับทุกคน และมีการบริหารจัดการที่ยั่งยืน (Ensure availability and sustainable management of water and sanitation for all)
  • เป้าหมายที่ 7 สร้างหลักประกันว่าทุกคนเข้าถึงพลังงานสมัยใหม่ในราคาที่สามารถซื้อหาได้ เชื่อถือได้ และยั่งยืน (Ensure access to affordable, reliable, sustainable and modern energy for all)
  • เป้าหมายที่ 8 ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ครอบคลุม และยั่งยืน การจ้างงานเต็มที่และมีผลิตภาพ และการมีงานที่สมควรสำหรับทุกคน (Promote sustained, inclusive and sustainable economic growth, full and productive employment and decent work for all)
  • เป้าหมายที่ 9 สร้างโครงสร้างพื้นฐานที่มีความทนทาน ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ครอบคลุมและยั่งยืน และส่งเสริมนวัตกรรม (Build resilient infrastructure, promote inclusive and sustainable industrialization and foster innovation)
  • เป้าหมายที่ 10 ลดความไม่เสมอภาคภายในและระหว่างประเทศ (Reduce inequality within and among countries)
  • เป้าหมายที่ 11 ทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความครอบคลุม ปลอดภัย มีภูมิต้านทาน และยั่งยืน (Make cities and human settlements inclusive, safe, resilient and sustainable)
  • เป้าหมายที่ 12 สร้างหลักประกันให้มีรูปแบบการบริโภคและผลิตที่ยั่งยืน (Ensure sustainable consumption and production patterns)
  • เป้าหมายที่ 13 ปฏิบัติการอย่างเร่งด่วนเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบที่เกิดขึ้น (Take urgent action to combat climate change and its impacts)
  • เป้าหมายที่ 14 อนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเลและทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Conserve and sustainably use the oceans, seas and marine resources for sustainable development)
  • เป้าหมายที่ 15 ปกป้อง ฟื้นฟู และสนับสนุนการใช้ระบบนิเวศบนบกอย่างยั่งยืน จัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน ต่อสู้การกลายสภาพเป็นทะเลทราย หยุดการเสื่อมโทรมของที่ดินและฟื้นสภาพกลับมาใหม่ และหยุดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ (Protect, restore and promote sustainable use of terrestrial ecosystems, sustainably manage forests, combat desertification, and halt and reverse land degradation and halt biodiversity loss)
  • เป้าหมายที่ 16 ส่งเสริมครอบคลุมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้ทุกคนเข้าถึงความยุติธรรม และสร้างสถาบัน ที่มีประสิทธิผล รับผิดรับชอบ และครอบคลุม ในทุกระดับ (Promote peaceful and inclusive societies for sustainable development, provide access to justice for all and build effective, accountable and inclusive institutions at all levels)
  • เป้าหมายที่ 17 เสริมความเข้มแข็งให้แก่กลไกการดำเนินงานและฟื้นฟูสภาพหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน (Strengthen the means of implementation and revitalize the global partnership for sustainable development)

ทั้งนี้ แนวทางหนึ่งที่ประเทศต่าง ๆ ส่วนใหญ่นิยมใช้ในการพัฒนาประเทศก็คือ “การค้าระหว่างประเทศ” (International Trade) เนื่องจากการค้าระหว่างประเทศเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญต่อการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมการจ้างงาน และสร้างรายได้ให้กับคนในประเทศ/ท้องถิ่นนั้น ๆ ซึ่งจะส่งผลต่อการลดความยากจน สร้างความเป็นอยู่ที่ดีจากการบริโภคสินค้าและการบริการขั้นพื้นฐาน นอกจากนี้การค้าระหว่างประเทศยังส่งผลทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงสินค้าหรือบริการจากต่างประเทศในราคาที่ถูกลงอันส่งผลต่อการเพิ่มสวัสดิการให้กับประชาชน

ในด้านการผลิต การค้าระหว่างประเทศส่งเสริมการแข่งขัน (Increased Competition) ของผู้ผลิตในประเทศที่จะต้องแข่งขันกับสินค้า/บริการจากต่างประเทศ โดยการแข่งขันในตลาดโลกจะนำมาสู่การตอบสนองเชิงกลยุทธ์ (Strategic action) ของภาคธุรกิจในประเทศนั้น ๆ ที่จะต้องให้ความสำคัญกับการดำเนินการผลิตที่มีประสิทธิภาพ และพยายามทำให้การผลิตเกิดการประหยัดต่อขนาด (Economies of Scale) ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยลดต้นทุนต่อหน่วยและเพิ่มผลประกอบการขององค์กร นอกจากนี้ การค้าระหว่างประเทศยังส่งเสริมให้เกิดการสร้างนวัตกรรมในกระบวนการผลิต (Process-Innovation) และสร้างนวัตกรรรมในตัวสินค้าหรือบริการ (Product Innovation) และยังก่อให้เกิดการถ่ายโอนเทคโนโลยี (Technology Transfer) โดยเฉพาะจากประเทศที่พัฒนาแล้วไปสู่ประเทศกำลังพัฒนาหรือด้อยพัฒนาในการเข้าถึงเทคโนโลยีที่ทันสมัยได้สะดวกมากขึ้น

อย่างไรก็ดี การค้าระหว่างประเทศมักทำให้เกิดผู้ได้รับประโยชน์และเสียผลประโยชน์ (Winner and Loser) ภายในประเทศ ยกตัวอย่างเช่น ถึงแม้ว่าประเทศจะได้รับประโยชน์จากการที่เศรษฐกิจของประเทศมีการพึ่งพาการค้าระหว่างประเทศก็ตาม แต่คนกลุ่มหนึ่งในประเทศอาจจะเสียผลประโยชน์จากการที่สินค้าที่ผลิตขึ้นไม่สามารถแข่งกับสินค้าจากต่างประเทศได้ จึงส่งผลทำให้เกิดการสูญเสียงาน (Job Loss) ในสาขาที่ไม่สามารถแข่งขันได้เหล่านั้น นอกจากนี้ การค้าระหว่างประเทศที่มีการใช้ประโยชน์จากปัจจัยใดปัจจัยหนึ่ง (เช่นการผลิตในภาคอุตสาหกรรมที่เน้นการใช้เครื่องจักรมากกว่าแรงงาน) อาจทำให้เกิดการจัดสรรรายได้ที่ไม่เป็นธรรมและส่งผลต่อความเหลื่อมล้ำในการได้รับผลประโยชน์ตามมา

ในความเป็นจริง การค้าระหว่างประเทศไม่ได้ทำหน้าที่เพื่อตอบสนองการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยตรง แต่เป็นกระบวนการที่กระทำผ่านระบบตลาดที่เน้นสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ ในขณะที่ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจดังกล่าวอาจจะต้องมาพร้อมกับผลกระทบในมิติทางสังคม (Social Impact) เช่น ความเหลื่อมล้ำ (ทั้งทางด้านรายได้ การเข้าถึงบริการของภาครัฐ เช่น การศึกษาและสาธารณสุข) การเกิดการกีดกันต่อการจ้างแรงงานผู้หญิงรวมไปถึงผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การทำลายธรรมชาติ การปล่อยมลภาวะ และความไม่มั่นคงในการผลิตและการบริโภค ดังนั้นประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ได้รับจากการค้าระหว่างประเทศ อาจจะไม่ได้ทำให้ประเทศได้รับการพัฒนาและบรรลุไปสู่กรอบเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ 

โดยเมื่อพิจารณาถึงกรอบความร่วมมือของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคอาเซียนแล้ว กลุ่มประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion: GMS) ซึ่งประกอบด้วย กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม ไทย และจีน (เฉพาะมณฑลยูนานและเขตปกครองตนเองกว่างซี) เป็นกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว โดยประเทศในกลุ่มนี้ได้ดำเนินนโยบายเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุนมาอย่างต่อเนื่อง อันส่งผลให้ในปัจจุบัน มูลค่าการค้าและการลงทุนจากต่างประเทศในกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ประเทศในกลุ่มนี้ยังเป็นประเทศเกิดใหม่ที่มีศักยภาพและมีความท้าทายต่อการพัฒนา การกำหนดนโยบายการค้าระหว่างประเทศที่เหมาะสมจึงเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่จะนำมาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนให้กับประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงนี้ได้ด้วยเช่นกัน

ด้วยโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) ที่มีลักษณะของเป็นระบบเศรษฐกิจเปิดขนาดเล็ก (Small Open Economy) และมีสัดส่วนของการค้าระหว่างประเทศต่อรายได้ประชาชาติสูง ดังนั้นจึงเกิดคำถามว่า การค้าระหว่างประเทศจะส่งผลต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในกลุ่มประเทศเหล่านี้อย่างไร และประเทศสมาชิกอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงเหล่านี้จะสามารถใช้ภาคการค้าระหว่างประเทศเป็นแรงผลักดันให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนได้อย่างไร

จากการศึกษาวิจัยได้สรุปข้อเสนอแนะ อาทิ หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศอาจพิจารณาการส่งเสริมการเปิดเสรีการค้าและลดอุปสรรคทางการค้า เพื่อส่งเสริมเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านเศรษฐกิจ การสนับสนุนการลงทุนจากต่างประเทศในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งจะส่งเสริมเป้าหมายด้านเศรษฐกิจโดยตรง รวมถึงเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม หากมีการสนับสนุนอุตสาหกรรมพลังงานสะอาดและพลังงานทางเลือก และการใช้นโยบายที่ไม่ใช่ภาษีที่จะเชื่อมไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนโดยตรง โดยเฉพาะเป้าหมายด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม เช่น การบังคับใช้มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช และการส่งเสริมการค้าภายใต้ระบบ Carbon Footprint เป็นต้น

เอกสารเกี่ยวข้อง

itd-logo-detail
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน)
โทรศัพท์: +66 (0) 2216 1894-7
โทรสาร: +66 (0) 2216 1898-9
อีเมล: info@itd.or.th

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

Top