บทความวิชาการ
view 623 facebook twitter mail

‘ภาคปศุสัตว์ที่ยั่งยืน’ อาเซียน

เกี่ยวกับเอกสาร

โลกกำลังเผชิญกับการเติบโตของประชากรอย่างรวดเร็ว มีการคาดการณ์ว่าในปี 2593 จะมีประชากรทั่วโลกเกิน 9.8 พันล้านคน สถานการณ์นี้นำมาซึ่งความต้องการอาหารที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะอาหารประเภทโปรตีนจากสัตว์ที่มีความต้องการเพิ่มขึ้นกว่า 20% ซึ่งความต้องการสูงสุดจะอยู่ในแถบทวีปเอเชีย  ทำให้ภาคปศุสัตว์มีบทบาทสำคัญในด้านความมั่นคงของอาหาร

แต่จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อการผลิตในภาคปศุสัตว์ เช่น ผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Niño) ซึ่งกลับมาอีกครั้งตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคม 2566 ส่งผลให้ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความเสี่ยงจากอุณหภูมิที่สูงขึ้น และรูปแบบภูมิอากาศที่ก่อกวน ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพของสัตว์โดยตรง และส่งผลทางอ้อมต่อการแพร่ระบาดของโรคในสัตว์ เป็นต้น

ในข้างต้นเป็นหนึ่งในความท้าทายที่การผลิตภาคปศุสัตว์ต้องเผชิญ ดังนั้นจำต้องมีการพัฒนาระบบการผลิตอย่างยั่งยืนเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลง โดยมีองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) มีบทบาทหลักในการขับเคลื่อนประเด็นดังกล่าว และมีการร่วมมือระหว่างผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียที่มุ่งพัฒนาปศุสัตว์อย่างยั่งยืนโดยเรียกว่า Global Agenda for Sustainable Livestock (GASL) โดยมี FAO ทำหน้าที่เป็นเลขาธิการ และภายใต้ความร่วมมือนี้มีการนำเสนอแผนปฏิบัติปี 2565-2567 เพื่อแนวทางในการพัฒนาปศุสัตว์ยั่งยืน

            GASL ได้นิยามความยั่งยืนของปศุสัตว์ไว้ว่าเป็น “แนวทางในการผลิตที่สอดคล้องกับเงื่อนไขในระยะยาวพร้อมกับการรองรับความมั่นคงทางอาหารของสังคม การดำรงชีวิตและการเติบโตทางเศรษฐกิจ สุขภาพสัตว์และสวัสดิภาพสัตว์ สร้างสภาพแวดล้อมที่สมดุลและส่งเสริมการใช้ทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพ”

            จากแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในระดับโลก ประเทศสมาชิกในอาเซียนเป็นกลุ่มที่มีกำลังสำคัญในการผลิตอาหารโลก และได้รับผลกระทบโดยตรงจากความท้าทายที่กล่าวมา จึงจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนผ่านการผลิตไปสู่ภาคปศุสัตว์ที่ยั่งยืนยิ่งขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีการปรับตัวในหลายประเทศของอาเซียน

ตัวอย่างเช่นใน สปป.ลาว ปศุสัตว์มีส่วนช่วยในการเพิ่มมูลค่ามากถึงหนึ่งในสามของภาคเกษตร ประกอบกับแรงหนุนจากการพัฒนาขนส่งในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงและข้อตกลงทวิภาคีกับเพื่อนบ้านในการส่งออกปศุสัตว์ รัฐบาลสปป.ลาวจึงพยายามมุ่งเน้นไปที่การมีส่วนร่วมในระบบเกษตรอาหารที่มีประสิทธิภาพยั่งยืนและคาร์บอนต่ำ เห็นได้จากการที่รัฐบาลสปป.ลาว กับ FAO มีการจัดงานเสวนาระดับชาติว่าด้วยการลงทุนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปศุสัตว์อย่างยั่งยืนใน เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา

ส่วนในประเทศไทยกับ FAO การร่วมจัดงาน Global Agenda on Sustainable Livestock Multi-Stakeholder Partnership meeting ครั้งที่ 13 และ Regional Conference on Sustainable Livestock Transformation โดยมีเป้าหมายเพื่อระบุตัวขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในระบบปศุสัตว์ วิเคราะห์ความเชื่อมโยงของตัวขับเคลื่อน และส่งเสริมความร่วมมือของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงนโยบายสำหรับปศุสัตว์ที่ยั่งยืน

การสร้างความร่วมมือเพื่อรับฟังจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในแต่ละประเทศของอาเซียน เป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนผ่าน แม้จะยังมีหลายประเด็นที่ยังต้องมีการปรับปรุง แต่การให้ความสำคัญและการมีความร่วมมือก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่อาเซียนจะมีโอกาสในการเป็นภูมิภาคแห่งการผลิตปศุสัตว์ยั่งยืนระดับโลก

ณัฐจารีย์ เพ็ชรร่วง
นักวิจัย
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th
ตีพิมพ์ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ Section : First Section/World Beat
ปีที่ 37 ฉบับที่ 12516 วันพุธที่ 22 พฤศจิกายน 2566
หน้า 8 (ล่าง) คอลัมน์ “Asean Insight”

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

view 623 facebook twitter mail
Top