หลักการและเหตุผล
การค้าในปัจจุบันได้รับแรงขับให้ปรับตัวอย่างรวดเร็ว เมื่อธรรมชาติมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่
ทวีความรุนแรง กระทบต่อสภาพแวดล้อมของโลกในอย่างกว้างขวาง ทั้งภัยพิบัติ โรคอุบัติใหม่ สภาพภูมิอากาศแปรปรวน ต้นเหตุมาจากการกระทำของมนุษย์ที่สะสมมาเป็นเวลาหลายร้อยปี ซึ่งวงจรการค้าทั้งห่วงโซ่ถือได้ว่าส่งผลอย่างมากที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์เปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติอย่างรุนแรง ประเทศไทยจึงมีแผนปฏิบัติการขับเคลื่อน BCG (Bio-Circular-Green Economy Model) โดยมีวิสัยทัศน์เพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน การเพิ่มรายได้ประชาชน การยกระดับคุณภาพชีวิต การรักษาและฟื้นฟูฐานทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพ ด้วยการใช้ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมและมุ่งบูรณาการการทำงานตลอดห่วงโซ่อุปทาน สนับสนุนการค้าที่คู่ขนานไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม
หลังจากสถานการณ์โควิด 19 คลี่คลายลง ทุกเวทีการค้าโลกให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตหรือบริการเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด รวมถึงมีการปรับมุมมองใหม่ที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม จะเห็นได้จากที่หลายประเทศเริ่มจริงจังมากขึ้นกับการค้าที่ส่งผลกระทบทำลายสิ่งแวดล้อม โดยหลายประเทศเริ่มนำนโยบายการค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาใช้เป็นเงื่อนไขหรือข้อกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ อีกทั้งหลายประเทศยังมีการตั้งเป้าหมายว่าภายในปี 2563 (2020) จะลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่ต่ำกว่าร้อยละ 40 – 49 เมื่อเทียบกับปี 2549 (2006) สำหรับประเทศไทยคณะรัฐมนตรีได้จัดให้เศรษฐกิจ BCG เป็นวาระแห่งชาติในปี 2564 เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจการค้าแบบองค์รวม 3 ด้านเศรษฐกิจ ให้ดำเนินการไปพร้อมกัน ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio economy) ที่มุ่งเน้นการนำความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมยุคใหม่ มาพัฒนาต่อยอดพื้นฐานด้านทรัพยากรชีวภาพหรือผลผลิตทางการเกษตรที่ไทยมีความเข้มแข็งเป็นทุนเดิม เพื่อยกระดับและเพิ่มมูลค่าให้ผลผลิต เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) โดยคำนึงถึงการนำวัสดุต่าง ๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด ซึ่งนอกจากจะสร้างมูลค่าให้ขยะแล้ว ยังลดปริมาณขยะภาคการผลิตให้เป็นศูนย์ (ZERO WASTE) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) เป็นโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
ทั้งนี้ สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) เห็นถึงความสำคัญของโอกาสในการขยายความสามารถในการแข่งขันและการเพิ่มกลยุทธ์ให้กับธุรกิจ BCG โดยมุ่งเน้นไปในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่ไทยมีศักยภาพในการดึงดูดนักลงทุนทั้งในประเทศ และต่างประเทศให้มาลงทุนในพื้นที่ ด้วยธุรกิจสินค้า BCG จะมีผู้ประกอบการรายเล็กเป็นส่วนมากและความสามารถในการลงทุนอาจจะไม่เพียงพอที่จะส่งออกสินค้าไปจ่างประเทศ ดังนั้น สำนักพัฒนาขีดความสามารถทางการค้าและการพัฒนา ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จึงเห็นว่า มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องจัดกิจกรรมการสัมมนาเรื่อง “การส่งเสริมการลงทุนด้านอุตสาหกรรม BCG ในพื้นที่ EEC” เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาความรู้ด้านการค้าและการพัฒนาที่นำไปสู่อนาคตที่ยั่งยืนต่อไป
วัตถุประสงค์
1 เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจด้านเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ที่สอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติ สำหรับมิติผู้ประกอบการในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)
2 เพื่อเป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายของรัฐบาล ผลักดันการมีส่วนร่วมในการวางแผนการส่งเสริมธุรกิจ BCG และคาดการณ์ถึงความเป็นไปได้ในทางธุรกิจของภาคเอกชนให้ตรงกับความต้องการของกลุ่มตลาดเป้าหมาย
3 เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์มุมมองจาภภาครัฐ และภาคเอกชนต่อการมีส่วนร่วมในแนวทางการส่งเสริมธุรกิจ BCG และเตรียมความพร้อมด้านการส่งออกสินค้า BGC ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)
วันที่จัดกิจกรรม
วันศุกร์ที่ 24 พฤษภาคม 2567 เวลา 08.30 – 14.00 น.
สถานที่จัดงาน
ณ โรงแรม บางแสน เฮอริเทจ จังหวัดชลบุรี และออนไลน์ผ่าน Zoom, Facebook และ Youtube ของสถาบัน
สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมงานได้ที่ https://forms.gle/
เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบงาน
นางสาวญาณิศา เรืองรัตน์อรุณ นักวิชาการ
นักวิชาการ สำนักพัฒนาขีดความสามารถทางการค้าและการพัฒนา
+66 (0) 2216 1894-7 #223
อีเมล yanisa@itd.or.thh